- +66 845678555
- [email protected]
- Mon - Sun : 8:00 - 18.30
ด้วงหนวดยาว
- ชื่อวิทยาศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) : Dorysthenes buqueti Guerin
- วงศ์ : Cerambycidae
- อันดับ : Coleoptera
- ชื่อสามัญอื่น : ด้วงเจาะลำต้นอ้อย , ด้วงหนวดยาว , ด้วงหนวดยาวอ้อย
ด้วงหนวดยาว เป็นด้วงกลุ่มใหญ่ ที่มีความหลากหลายสูง มีการจัดจำแนกชนิดไว้กว่า 20,000 ชนิด ลักษณะเด่นของด้วงในวงศ์นี้ มีหนวดยาว หลายชนิดหนวดมีความยาวมากกว่าลำตัว ลำตัวมีรูปร่างคล้าย ทรงกระบอก สีสันหลากหลาย บางกลุ่มเลียนแบบสีสันของมด ผึ้ง ต่อ แตน เพื่อให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใจผิดว่าเป็นแมลงที่มีอันตราย
ตัวหนอนของ ด้วงหนวดยาว มีสีขาว ไม่มีขา ลำตัวส่วนหัวใหญ่กว่าส่วนปลายคล้ายกับหนอนของแมลงทับ แตกต่างกันที่ลำตัวส่วนหน้าของตัวหนอนด้วงหนวดยาวจะเป็นวงกลม แต่ลำตัวส่วนหน้าตัวหนอนแมลงทับจะเป็นวงรี ตัวหนอนของด้วงหนวดยาวอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ของต้นไม้มีชีวิต หรือไม้ท่อนที่เพิ่งตัดใหม่ๆ โดยกินน้ำเลี้ยงจากเนื้อเยื่อเจริญของต้นไม้เป็นอาหาร รอยเจาะมีลักษณะเป็นวงกลม
ด้วงหนวดยาว หลายชนิดจัดเป็นแมลงศัตรูไม้ป่า และผลไม้ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ทำให้ต้นไม้ตาย แต่ก็อาจทำให้ต้นไม้ชะงักการเจริญเติบโต หรือหักโค่นได้ง่าย เมื่อโดนลม และทำให้มูลค่าของเนื้อไม้ลดลงเมื่อนำมาแปรรูป อย่างไรก็ดีด้วงหนวดยาวขนาดเล็กหลายชนิดก็จัดเป็นแมลงที่มีประโยชน์ในการผสมเกสรดอกไม้
หนอน ด้วงหนวดยาว เจาะอ้อย
ในระยะเริ่มปลูกอ้อย หนอนด้วงหนวดยาว จะเจาะชอนไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อย ภายในท่อนพันธุ์ ทำให้อ้อยไม่สามารถงอกได้ หรือเมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน เป็นช่วงเริ่มแตกกอ หนอนจะกัดกินบริเวณโคนอ้อยที่ติดกับเหง้า ทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย ส่วนในอ้อยโตเป็นลำจะพบว่ากาบใบและใบอ้อยแห้งมากกว่าปกติ ตั้งแต่ใบล่างจนแห้งตายไปทั้งต้นหรือทั้งกออ้อย โดยหนอนขนาดเล็กกัดกินบริเวณเหง้าอ้อย เมื่อหนอนโตขึ้นจะเริ่มเจาะไชส่วนโคนของลำอ้อยขึ้นไปเพื่อกินเนื้ออ้อย ทำให้ลำต้นอ้อยเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ซึ่งส่งผลให้ลำต้นอ้อยหักล้มและแห้งตายได้
การป้องกันการแพร่ระบาด ด้วงหนวดยาว
- เมื่อมีการไถที่เตรียมดิน ควรเก็บตัวหนอนออกจากพื้นที่ 1-2 ครั้ง
- การควบคุมแบบชีววิธีโดยการใช้เชื้อราเมตาไรเซียม โรยลงบนท่อนพันธุ์พร้อมการปลูกอ้อย ในอัตราส่วน 20 กก./ไร่ โดยเชื้อราจะสามารถอยู่ในดินและป้องกันตัวหนอนได้เป็นปี
- แหล่งที่มีการระบาด ควรมีการมใช้สารฆ่าแมลงฟิโพรนิล (Ascend 5 % SC) ในอัตราส่วน 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นหลังวางท่อนพันธุ์ หรือไถคลุกตอนเตรียมดิน
- ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกอ้อย เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปอเทือง เป็นต้น
- ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนเป็นช่วงที่ด้วงหนวดยาวอ้อยเริ่มเป็นตัวเต็มวัยควรขุดหลุมเพื่อดักจับ ประมาณ 40 หลุม/ไร่ โดยเพศเมียจะปล่อยสารล่อเพศผู้ออกมา เพศผู้ก็จะเดินตาม เมื่อตกลงไปในหลุมก็ไม่สามารถขึ้นได้ ควรรองก้นหลุมด้วยพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยไปวางไข่
- ส่งเสริมให้มีการนำหนอนด้วงหนวดยาวไปประกอบเป็นอาหาร